ประวัติ ของ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

จากจุดเริ่มต้นการให้การรักษาทางทันตกรรมแก่ชาวเชียงใหม่ ในฐานะแผนกหนึ่งของโรงพยาบาลนครเชียงใหม่สังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๘ จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. ๒๕๐๒ มีการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ขึ้น แผนกทันตกรรม โดยมีทันตแพทย์หญิง ดร.ถาวร อนุมานราชธน เป็นหัวหน้าแผนก จึงมีฐานะเป็นแผนกทันตกรรม คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลนครเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ต่อมามีการโอนย้ายคณะแพทยศาสตร์เข้าสังกัดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แผนกทันตกรรมจึงเปลี่ยนเป็นแผนกหนึ่งของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. ๒๕๐๘

แผนกทันตกรรม คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เริ่มเปิดสอนสาขาทันตแพทยศาสตร์ในส่วนภูมิภาคเป็นครั้งแรกปี พ.ศ. ๒๕๐๙ โดยขณะนั้นเริ่มทดลองรับนักศึกษา ๒ คน และคณาจารย์ที่ทำการสอนก็เป็นทันตแพทย์ในแผนกทันตกรรมของคณะแพทยศาสตร์นั่นเอง ประกอบด้วยอาจารย์ประจำเพียง ๙ ท่าน

ในปี พ.ศ. ๒๕๑๑ สำนักนายกรัฐมนตรี มีประกาศยกฐานะแผนกทันตกรรม ขึ้นเป็นภาควิชาทันตแพทยศาสตร์ สังกัดคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นับแต่นั้นเป็นต้นมาขอบเขตการทำงานและการรับนักศึกษาเข้าศึกษาแต่ละรุ่นเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ จนกระทั่งในวันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีให้มีการจัดตั้งเป็นคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อันเป็นคณะในลำดับที่ ๙ ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเป็นคณะทันตแพทยศาสตร์แห่งแรกที่จัดตั้งขึ้นในเขตภูมิภาค มีอาจารย์ ทันตแพทย์หญิง ดร.ถาวร อนุมานราชธน ดำรงตำแหน่งคณบดีคนแรก

สถานที่ทำงานเดิมในช่วงที่เป็นแผนกทันตกรรมนั้น อยู่บนชั้นสองของอาคารซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของตึกผู้ป่วยนอกของคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลนครเชียงใหม่ ห้องทำงานของแผนกทันตกรรมจะมีอยู่ ๒ ห้อง ซึ่งประกอบด้วยห้องตรวจ ห้องเอกซเรย์ และห้องอุดฟันที่ใช้ร่วมกัน ๑ ห้อง และห้องถอนฟันอีก ๑ ห้อง โดยอาจารย์ทันตแพทย์ที่ทำการสอนจะหมุนเวียนกันเป็นอาจารย์แต่ละห้อง และหลังจากที่ได้เป็นภาควิชาทันตแพทยศาสตร์เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๑ แล้วก็ยังคงใช้ห้อง ๒ ห้องนั้นเป็นสถานที่ทำงานอยู่ จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๑๒ คณะแพทยศาสตร์ย้ายสถานที่ทำงานไปยังตึก ๗ ชั้นที่สร้างใหม่ ภาควิชาทันตแพทยศาสตร์จึงดัดแปลงอาคารเดิมที่อยู่ เป็นห้องทำงานของภาควิชา และแม้จะได้รับการประกาศเป็นคณะทันตแพทยศาสตร์แล้ว ก็ยังใช้สถานที่นี้ทำการสอน การวิจัย และบริการผู้ป่วยเรื่อยมาจนถึงปี พ.ศ. ๒๕๑๙ ด้วยการรับนักศึกษาที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปีและงานในสาขาต่างๆ มีบุคลากรเพิ่มขึ้น ประกอบกับสถานที่เดิมของคณะทันตแพทยศาสตร์ค่อนข้างคับแคบ คณะฯ จึงได้รับการอนุมัติให้สร้างอาคารที่ทำการถาวรขึ้นในที่ดินของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จำนวน ๑๑ ไร่ บนถนนสุเทพ ตรงข้ามวัดสวนดอก ปัจจุบันมีอาคารสำนักงาน ห้องบรรยาย ห้องปฏิบัติการ คลินิก และศูนย์วิจัยต่างๆ รวมทั้งสิ้น ๙ อาคาร[2]

ใกล้เคียง

คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

แหล่งที่มา

WikiPedia: คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ http://web1.dent.cmu.ac.th/commun/ http://web1.dent.cmu.ac.th/dentalhospital/ http://web1.dent.cmu.ac.th/diag/ http://web1.dent.cmu.ac.th/ortho/ http://web1.dent.cmu.ac.th/pros/ http://web1.dent.cmu.ac.th/resto/ http://web1.dent.cmu.ac.th/spclinic/ http://web1.dent.cmu.ac.th/surg/ http://www.dent.cmu.ac.th/web/frontend/web/ http://www.dent.cmu.ac.th/web/frontend/web/?r=site...